วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556
สังหารมิตร
"เขานำความวิบัติมาสู่ประชาชาติของเขา ผู้ที่ไม่เคยหว่านเมล็ดพืช ไม่เคยถืออิฐโบกปูน ไม่เคยถักทอเสื้อผ้าแม้แต่น้อย ได้แต่ทำการเมืองให้เป็นอาชีพของเขาเท่านั้นเอง" คาริน ยิบราน
"เขานำความวิบัติมาสู่องค์กรของเขา ผู้ที่ไม่เคยลงมือทำงาน ไม่เคยประสานงานกับผู้คน ไม่เคยสร้างผลงานแม้แต่น้อย ได้แต่ทำการงานเป็นส่วนๆ ไปตามอาชีพของเขาเท่านั้นเอง" ทิพย์ พัชน์ศรี
ผมสงสารและเห็นใจองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง เขามีแต่ประโยชน์ตนดำรงประโยชน์ตนไว้เหนือคุณธรรมน้ำมิตร ประโยชน์ตนที่ทำหน้าที่แห่งตนให้ดีที่สุด น้ำมิตรไม่ใช่เรื่อง ธุระ กงการ อะไรที่จะต้องนำมาใส่ไว้ในใจ ประโยชน์ตนที่ได้รับการออกแบบไว้ในระบบงานที่มีเจตนาแอบแฝงเอาประโยชน์ใส่ตน
การแบ่งกันทำงานเป็นประโยชน์ในการออกแบบองค์กรให้ทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ อยู่ที่เจตนาของการออกแบบนั้น บางครั้งเมื่อออกแบบมาแล้วผู้ปฏิบัติไม่มีหน้าที่มาตีความต้องทำตามที่กำหนดไว้แล้ว มิเช่นนั้นจะเป็นการผิดกฎ ผิดระเบียบ ความผิดสร้างความกลัวในคนทำงาน คนทำงานจึงเหมือนเครื่องจักรกลไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์งานใด คนก็มีความสุขตามอัตตภาพ องค์กรได้ผลงานตามที่ออกแบบแล้ว
เคยฟังเรื่องเล่าไหม มีองค์กรหนึ่งได้ออกแบบกระบวนการสังหารไว้ดังนี้ หน่วยที่ 1 สร้างรถยนต์สร้างรถที่มีท่อไอเสียพ่นเข้าข้างในตู้ขนส่งของรถ ส่งให้หน่วยที่ 2 มีหน้าที่ขนส่ง หน่วยขนส่งแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกมีหน้าที่ขับรถที่ทำความสะอาดแล้วไปจอดไว้ที่หน้าเรือนจำดับเครื่องเปิดท้ายทิ้งไว้ กลุ่มที่สองมีหน้าที่ไปขับรถนั้นไปยังจุดหมายแล้วทิ้งไว้ กลุ่มที่สามมีหน้าที่ไปขับรถกลับมายังที่เก็บแล้วทำความสะอาดภายในตู้ขนส่ง หน่วยที่ 3 มีหน้าที่คัดคนในเรือนจำตามที่ได้รับสั่งการขึ้นไปรอบนรถขนส่งแล้วปิดตู้ หน่วยที่ 4 มีหน้าที่มาเปิดตู้ขนส่งนำร่างที่ไร้วิญญานออกมากลบฝัง ด้วยเหตุดังนี้คนทั้งสี่กลุ่มไม่มีผู้ใดเป็นผู้สังหารคนในเรือนจำ ต่างคนต่างทำหน้าที่ไม่ต้องรับผลของสิ่งที่เกิดขึ้น การดั่งนี้สามารถฆ่าสังหารคนได้โดยไม่มีใครรู้สึกผิดมโนสำนึก ฆ่าได้มากฆ่าได้ทุกวัน
องค์กรใหญ่แห่งหนึ่งก็เช่นกัน ออกแบบกระบวนการทำงานไว้ดั่งนี้ หน่วยแรก หน่วยที่ปฏิบัติการเมื่อได้รับคำสั่งมีเป้าหมายที่จะกระทำ หน่วยปฏิบัติมีหน้าที่ออกแบบการทำงาน หาวิธีการทำงาน หาผู้มาทำงาน ควบคุมงาน ประเมินผลงาน ตรวจรับงาน อันนี้มีกฏระเบียบที่บังคับไว้ไม่ให้ผิดกฏหมาย หน่วยที่สอง หน่วยว่าจ้าง มีหน้าที่ว่าจ้างผู้มาทำงาน ทำสัญญาผูกมัด ซึ่งมีกฏระเบียบที่ออกแบบไว้แล้วและไม่ให้ผิดกฏหมาย หน่วยที่สาม หน่วยจ่ายเงิน มีหน้าที่จ่ายเงินตามระเบียบที่องค์กรออกแบบไว้เองและตราเป็นระเบียบ เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่มีเงินจ่ายออกเป็นจำนวนมาก จึงตรากฎไว้ว่าไม่ว่าใครจะได้รับเงินต่อเมื่อส่งงานและตรวจรับแล้ว หลังจากนั้น 30 วัน หากวันครบกำหนดเป็นวันหยุดจะทำให้ในวันเปิดทำการถัดไป การดั่งนี้ หากองค์กรนั้นต้องจ่ายเงิน เดือนละ 1,000 ล้าน จะดึงเงินไว้ในองค์กรได้อีก 30 วัน สามสิบวันดอกเบี้ยเงิน 1,000 ล้าน เป็นเงินเท่าไรคิดกันเองก็แล้วกัน ระเบียบนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งตนโดยแท้ ไม่มีคุณธรรมน้ำมิตรใดจะละเมิดกฏเกณฑ์ได้
ทีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หน่วยปฏิบัติการหนึ่งต้องการทำงานที่ใช้ความรู้พิเศษบางประการ จึงไปขอให้หน่วยงานของทางราชการหน่วยหนึ่งมาทำงานให้ หน่วยงานของทางราชการนั้นรับทำให้ แต่ด้วยความไม่รู้ในระเบียบจึงมีความคาดหวังว่า การรับเงินจะไม่มีปัญหาใด และในหนังสือที่ส่งไปให้นั้นมาในหัวเรื่องขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยเหนือ ด้วยความเคยชินในระบบราชการจึงเข้าใจเอาเองว่า ผู้มาติดต่อนั้นจะเบิกเงินมาจ่ายให้ได้ในวันที่มีการทำงานหรือเมื่องานนั้นสิ้นสุดลง และไม่ได้ใส่ใจว่าเป็นการรับจ้างทำงาน แต่เป็นการให้ความอนุเคราะห์ทำงานให้ ด้วยความที่มีงานประจำมาก ราชการใช้งานเยอะ หัวหน้าโครงการจึงไม่ได้ทำสัญญาล่วงหน้า และไม่เข้าใจสถานะแห่งตน ว่า หน่วยปฏิบัติการยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้พิเศษ แต่ หน่วยว่าจ้างและหน่วยจ่ายเงินไม่ได้คิดอย่างนั้น ระเบียบต้องเป็นไปตามระเบียบ คุณธรรมน้ำมิตรใช้ละเมิดกฏไม่ได้ ในตอนทำสัญญานั้นหัวหน้าโครงการได้รับข่าวสารจากหน่วยงานว่าจ้างว่า สามารถที่จะรับเงินได้ภายใน 15 วันขอให้รีบเอางานมาส่งพร้อมทั้งลงนามสัญญา อันนี้ได้รับทราบเมื่อวันสุดท้ายของการทำงานปฏิบัติการเสร็จ หน่วยปฏิบัติการจึงร่วมด้วยช่วยให้มีการตรวจรับงานให้แล้วเสร็จในวันที่ 7 มี.ค. 56 และหัวหน้าโครงการจึงรีบเดินทางมายังสำนักงานกลาง (การปฏิบัติงานนี้เกิดขึ้นที่ต่างจังหวัด) นำมาส่งให้ในวันที่ 8 มี.ค. 56 และหวังว่าเมื่อผ่านไป 15 วัน ประมาณ วันที่ 23 มี.ค. 56 ก็จะได้รับเงิน ในการปฏิบัติการนี้ หัวหน้าโครงการมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและไม่สามารถนำเงินทางราชการมาใช้ก่อนได้ จึงแบกรับภาระไว้เอง และการทำงานเป็นแบบหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐ ผู้ร่วมโครงการล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการที่มีรายได้ไม่มากนักมีภาระที่จะต้องใช้จ่ายเช่นกัน หัวหน้าโครงการจึงของร้องผู้เข้าร่วมโครงการให้รอ คาดว่าวันที่ 25 มี.ค. 56 ไม่เกินนั้น จะได้รับเงินจากการปฏิบัติการแน่นอน จากการประสานงานของหัวหน้าโครงการกับหน่วยปฏิบัติการในเวลาต่อมาทราบว่าไม่สามารถทำได้ตามที่หน่วยงานว่าจ้างบอกช่องทางไว้ ทีนี้เมื่อทราบดั่งนั้นแล้ว หัวหน้าโครงการก็ยอมรับสภาพว่า 30 วัน ก็ 30 วัน ตามข้อเท็จจริงทางหน่วยที่ปฏิบัติการตรวจรับหลังงานเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 56 นำส่ง วันที่ 8 มี.ค. 56 ความคาดหวังจึงอยู่ที่ วันที่ 8 เม.ย. 56 จะได้รับเงิน แต่กลับได้รับคำตอบว่า วันที่ 17 เม.ย. 56 จึงจะได้รับเงิน ความคิดของหัวหน้าโครงการ ที่ไปรับปากกับผู้ร่วมโครงการไว้ตามความคาดหวังคือได้ก่อนหยุดสงกรานต์จึงทำให้หัวหน้าโครงการผิดหวังเพราะจะทำให้เป็นผู้เสียคำพูดซึ่งหัวหน้าโครงการรักคำพูดมาก และผู้ร่วมโครงการจะเข้าใจว่าหัวหน้าโครงการแก้ตัวไปวันๆ เพื่อให้พ้นความรับผิดเท่านั้น หัวหน้าโครงการไม่เข้าใจว่าส่งงานตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 56 แต่ทางหน่วยจ่ายเงินซึ่งเป็นผู้อยู่ในองค์กรเดียวกันกลับไม่ยอมรับกลับเอากฏมาว่าเอกสารมาถึงวันใดนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไปซึ่งไม่ใช่ความผิดของหัวหน้าโครงการที่จะไม่เข้าใจ หน่วยจ่ายเงินที่ยึดกฏระเบียบที่เอื้อแก่องค์กรตนรั้งเงินไว้เท่าใดก็ได้ประโยชน์มากเท่านั้น (อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว)จึงเป็นอันว่าหัวหน้าโครงการจะไม่ได้รับเงินในวันที่ 12 เม.ย. 56 เพราะวันที่ 12 เม.ย. 56 รัฐบาลประกาศเป็นวันหยุด นับเป็นกรรมต่อเนื่อง ดั่งนี้ แล
จากเหตุการณ์ข้างต้นมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับ กฏระเบียบ การบริหารความคาดหวังและการผลักภาระ ดังนี้
หน่วยงานปฏิบัติการไม่ทราบกฏระเบียบเกี่ยวกับการนี้โดยละเอียดและปรึกษากับหน่วยงานว่าจ้างเพียงหน่วยเดียวด้วยความไว้ใจว่าจะแนะนำได้ดีเพราะเป็นผู้ชำนาญการจ้าง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องการจ่ายเงินหากประสานกับหน่วยงานจ่ายเงินด้วยจะได้ข้อมูลด้านกฏระเบียบได้ชัดเจนตามจริงมากขึ้น
หน่วยงานปฏิบัติการ หน่วยงานว่าจ้าง หน่วยงานจ่ายเงินไม่ได้บริหารความคาดหวังของหน่วยงานราชการที่ปฏิบัติงานให้คาดหวังตามความเป็นจริง ทำให้มีความคลาดเคลื่อนในความคาดหวังของหน่วยงานราชการที่มาปฏิบัติงานให้ จากความคาดหวังที่คลาดเคลื่อนทำให้สื่อสารต่อไปไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
การผลักภาระจากตนไปให้หัวหน้าโครงการของหน่วยงานราชการนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากไม่เข้าใจโดยรอบคอบ เป็นการสร้างภาระและสร้างความผิดหวังให้กับหัวหน้าโครงการที่มาปฏิบัติการให้ ทั้งที่ ภาระนั้นควรจะเป็นขององค์กรที่หน่วยงานทั้งสามต้องเป็นผู้จ่ายหัวหน้าโครงการหรือหน่วยราชการไม่มีหน้าที่มาออกแทนเพราะไม่ได้เป็นผู้รับจ้าง เป็นผู้มาปฏิบัติการตามหนังสือขอความอนุเคราะห์
ข้อสังเกตุอีกประการหนึ่งคือการผูกมิตร ในการนำเสนอผลในการปฏิบัติการเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 56 ผู้บริหารของหน่วยงานปฏิบัติการได้แสดงความเห็นว่าจะขอให้หน่วยงานราชการนี้มาช่วยทำวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกันนี้ ตอนนั้นมีการยินดีที่จะได้ร่วมงานกันอีก ตอนนี้เราได้สังหารมิตรของเราเรียบร้อยแล้ว และผมบริหารความคาดหวังของหน่วยปฏิบัติการไว้ล่วงหน้าว่าไม่ต้องติดต่อไปอีก งานนี้งานเดียวจบสิ้นกันแล้ว และจะเป็นที่เล่าขานกันไปทั้งประเทศเพราะหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานสังกัดระดับกรมด้วย
(หมายเหตุ ผมนับยังไง จากวันที 12 มี.ค. 56 ครบ 30 วันก็วันที่ 11 เม.ย. 56 ไม่เชื่อลองนับดู แล้วจะรู้ว่า ...บุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ตน...)
แด่ประโยชน์แห่งมนุษยชาติ
บุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ตน
มิอาจสร้างโลกที่สงบสุข
และรับใช้มนุษยชาติได้
การงานเป็นสะพานเชื่อมความรัก นะครับท่าน อย่าใช้เป็นเครื่องสังหาร
ด้วยจิตนอบน้อม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น