วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทางแก้ไขจุดบอดของใจ


บางส่วนจากธรรมบรรยาย โดย อมรา มลิลา ชมรมพุทธธรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๖
(โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ 19401 โดย: กอบ 23 มี.ค. 49)


...
ถ้าไล่เลียงดูดี ๆ จุดบอดก็มีมาตั้งแต่ในเด็กเล็ก ๆ แล้ว มีครอบครัวหนึ่งซึ่งมีพ่อแม่และลูกชายคนหนึ่ง ทั้งหมดอยู่กันในบ้านคุณปู่คุณย่า เด็กคนนี้เป็นขวัญใจของทุกคนในบ้าน วันหนึ่ง หลังจากรับประทานอาหารมื้อเย็นเสร็จแล้ว ทุกคนก็มานั่งผักผ่อนอยู่ด้วยกัน เด็กซึ่งอายุ ๒ ขวบกว่า ๆ มาชวนพ่อเล่นเกมงูตกบันได ซึ่งมีกระดานสี่เหลี่ยมเป็นตาหมากรุก มีตัวงูโผล่หัวอยู่กลางกระดาน หากพาดมาตกที่จุดตั้งต้นเลขศูนย์

เวลาเล่นก็ผลัดกันทอดลูกเต๋า ลูกเต๋าขึ้นหน้าไหน ผู้เล่นก็เดินไปตามช่องในกระดานตามจำนวนแต้มบนหน้าลูกเต๋า ถ้าเดินไปหยุดตรงช่องที่มีปากงู งูก็จะกินเราตกงไปที่ศูนย์ใหม่ บางครั้ง เล่น เล่น เล่นไป เรานำหน้าคู่แข่งไปครึ่งกระดาน จะชนะแล้วเกิดปะเหมาะเคราะห์หามยามร้าย ทอดลูกเต๋าไปตกตรงปากงู ก็ลงมาตั้งต้นที่ศูนย์ใหม่

ปรากฏว่า ในเกมนั้น หลานชายวัย ๒ ขวบ ทอดแต้มชนะพ่อไปลิ่ว ลิ่ว ลิ่ว แต่แล้วก็ไปตกตรงปากงู เด็กเดินหมากของตัวไปวางตรงปากงู แล้วเลื่อนตามลำตัวงูลงมาที่หางงู ที่ศูนย์ ไปมองหมากของพ่อ แล้วจับหมากของตัวเลื่อนจากศูนย์กลับขึ้นไปที่ปากงูใหม่ เมื่อทุกคนมอง ก็เอาลงมาที่หางงู กลับไปกลับมาอยู่ ๒-๓ ครั้ง ในที่สุดก็ใช้ความกล้าหาญ เอาขึ้นมาวางตรงปากงูอยู่กลางกระดาน

ทุกคนประท้วงว่า อ้าว.. ก็หมากจะต้องลงไปที่ศูนย์นี่นา เด็ก ๒ ขวบให้เหตุผลว่า ก็ไม่เห็นหรือ ลูกเอาหมากใส่ปากงูไปถึงหางแล้ว แต่งูอ้วกออกมาทุกทีเลย ไม่ใช่เด็กไม่รู้ ไม่ใช่จะโกง เขามีเหตุผลของเขา เพราะเขาแพ้ไม่ได้ แต่จะรับตรง ๆ ว่าฉันจะโกง ก็เสียท่า จึงสร้างเหตุและผลมาอ้าง ก็ไม่เห็นหรือ เขาก็ได้ลากหมากลงไปอย่างนั้นจริง ๆ แล้วก็เอาขึ้นมา .. เห็นไหม งูขย้อนขึ้นมาตั้ง ๒ หน ๓ หน ถ้าขึ้นเอาลงไป มันก็อ้วกออกมาอีก เพราะฉะนั้น หมากก็ต้องอยู่ที่ปากงูนั่นแหละ

ถ้ามองให้ละเอียดถี่ถ้วน เราจะเห็นว่า เออจริงนะ กิเลสทุกตัว ไม่ได้มามีขึ้นเมื่อเราเกิดแล้ว หรือผู้คนในโลกนี้หรือบรรยากาศในโลกเอากิเลสมาใส่เข้าไปในใจเรา เรามักจะพูดกันว่า เด็กเล็ก ๆ ใจยังสะอาด เหมือนผ้าขาวบริสุทธิ์ ครั้งโตขึ้นมา โตขึ้นมา กิเลสจึงมาเปื้อน เราก็เข้าใจผิดตามไป

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองติงว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น เด็กก็ไม่มาเกิดกัน เพราะใจสะอาดบริสุทธิ์แล้ว เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว การที่ยังมาเกิดมีตัวตนเห็นโทนโท่อยู่ แปลว่ากิเลสยังมีอยู่ในใจ แต่ยังไม่ได้ปุ๋ยได้เชื้อเพียงพอ ก็เลยยังเหมือนเม็ดอ่อน ๆ ที่เป็นเปลือกหุ้มอยู่ ยังไม่สำแดงฤทธิ์ออกมาให้เราเห็น เมื่อถูกสิ่งแวดล้อมกระตุ้น ก็ค่อยแตกกิ่งก้านมากขึ้น มากขึ้น

เด็กคนนี้ก็มีเชื้อของความโลภ ความมืดมน มีตัว ฉันต้องเก่ง ต้องชนะ อยู่ในใจ เท่า ๆ กับเราทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกันทั้งนั้น แต่ปัญหามีอยู่ว่า เชื้อแต่ละเชื้อ กิเลสแต่ละตัวของเรา จะได้ปุ๋ยได้เชื้อทำให้พองใหญ่ขึ้นมาแค่ไหน

ถ้าคิดได้อย่างนี้ เราก็จะบอกเด็กว่า งูมันไม่อ้วก แล้วคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ ก็จะค่อย ๆ จับหมกเลื่อนลงไปอยู่ที่หางงู อธิบายว่า ถ้าเราจะเล่นกัน เราก็ต้องเคารพกฏกติกา เกมทุกชนิด เมื่อเล่นแล้วก็ต้องมีแพ้บ้างชนะบ้าง เหมือนเราไปเล่นไม้กระดก ก็ต้องมีกระดกขึ้นบ้าง กระดกลงบ้าง สอนให้เด็กเห็นธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ ให้คุ้ยเคยกับกฎของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรเที่ยง ใครก็ชนะตลอดกาลไม่ได้ แพ้ตลอดกาลไม่ได้ มันต้องตั้งอยู่ แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไป แล้วกลับตั้งขึ้นใหม่ คือค่อย ๆ ให้ภูมิคุ้มกันเขา

แต่ปรากฏว่าคุณปู่คุณย่าชื่นชม เห็นว่าหลานฉันเพิ่ง ๒ ขวบ เฉลียวฉลาดเหลือเกิน คิดได้ว่างูอ้วก ก็เลยทำให้เด็กภาคภูมิใจว่า ฉันเก่งที่หาเหตุผลมาอธิบายว่างูมันอ้วก แล้วเลยไม่ต้องทำตามกฎ เมื่อเป็นอย่างนี้ ระหว่างที่เด็กเติบโตขึ้น พอมีอะไรไม่ถูกกิเลสเขา แทนที่จะหาเหตุผลจริง ๆ ความเคยชินจะสอนให้เขาหาเหตุผลที่เป็นกิเลสมาใช้อ้าง เพราะทุกกรณี เขาต้องเป็นผู้ชนะ

วันหนึ่ง เราเห็นเขาโตเกินกว่าจะน่าเอ็นดูกับเหตุผลที่เป็นความฉลาดแกมโง ที่ไม่ถูกต้อง เราดุเขา เขาก็จะตกใจ อกสั่นขวัญสยอง เพราะเขาเคยทำอย่างนี้มาเรื่อย ๆ จนเป็นอุปนิสัยไปแล้วและทุกคนก็หัวเราะเอ็นดูและชมว่าเขาเก่ง วันนี้เกิดอะไรขึ้น การอบรมเด็กด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงเป็นพิษเป็นภัย เพราะเอากิเลสในตัวเราไปปลูกปั้นเขาขึ้นมา แล้ววันหนึ่งก็ไปบอกว่าทำไม่ได้

เหมือนเรื่องในนิทานอีสป หญิงสาวคนหนึ่งสามีตายตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง พอลูกคลอดออกมาหน้าตาเหมือนสามีมาก แม่ก็ฟูมฟักรักถนอมลูกชายคนนี้เป็นแก้วตาดวงใจ ลูกทำอะไร จะไปรังแก่เพื่อน จะไปขโมยของใคร จะไปทำความผิดความชั่วอะไร แม่ก็บอกว่า ดีลูก ลูกเลยเข้าใจว่า อะไร อะไรไร อะไร ที่ตัวทำนั้น ดีทั้งนั้น ต่อมาเด็กโตเป็นหนุ่ม ไปขโมยของเขา ถูกเขาแจ้งความ ตำรวจจับ ค้นของกลางได้ ตำรวจก็เอาเข้าคุก เมื่อไปเยี่ยมที่คุก รำพันว่า โธ่เอ๋ย ทำไมลูกจึงทำอย่างนี้ แม่เสียใจเหลือเกิน

ลูกก็ตอบ อ้าว ฉันก็ทำอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ทำทีไร แม่ก็บอก ดีลูก ฉันจะไปรู้ได้อย่างไรว่า ทำอย่างนี้แล้ว ตำรวจจะมาจับฉันเข้าคุก หาว่าเป็นหัวขโมย ก็แม่บอกแต่ ดีลูก ทุกที

การที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย รักเด็กโดยไม่แนะสอนให้รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก กฎเกณฑ์ข้อบังคับมีว่าอย่างไร เรารักแล้วมองที่ผิดที่บกพร่องผ่านจุดบอดในใจของเรา เป็นการปิดบังความจริงจากเด็ก วันหนึ่งก็จะเกิดผลเสียหาย ทำนองตัวอย่างที่ดิฉันเอามาเล่าสู่กันฟัง หรือตัวเราเองก็เถอะ ไม่มีใครบอกเรา เราก็ต้องพยายามดูเขา แล้วยอนมาเปรียบเทียบดูเราว่า ที่เราทำ ที่เราว่างูอ้วกออกมา ทำแล้วเรามีความสุข แต่อีกฝ่ายทุกข์ปางตายนั้น มันถูกต้องหรือเปล่า

ของอะไรก็ตาม ถ้าเป็นของดี ของถูกต้อง มันดีกับเรา ทำให้เราดีใจ เรามีความสุข มันย่อมทำให้คู่กรณีของเราดีใจ มีความสุขด้วย เหมือนเราหิวน้ำ เราดื่มน้ำฝนเข้าไปแล้วชุ่มชื่น ยิ่งน้ำฝนนั้นลอยดอกมะลิด้วย ยิ่งชื่นใจหายเหนื่อย น้ำเหยือกนี้เอาไปให้ใครใครดื่ม จะเป็นคนที่รักเรา หรือเป็นศัตรูกับเรา ตื่มแล้วคนเหล่านั้นก็ต้องได้ความชุ่มชื่นใจ เป็นสุขอย่างเราเหมือนกัน

ไม่ใช่ว่า ดีกับเรา แต่กับศัตรูเรา กินเข้าไปแล้วปวดท้อง อาเจียน หรือไม่สบายเป็นโรคขึ้นมา ไม่ใช่อย่างนั้น

สิ่งที่เป็นธรรม ถ้าดีกับใคร ก็ต้องดีกับทุกคน ถ้ายึดหลักนี้เอาไว้ พอจะหลงไปตามจุดบอดในใจ เราก็จะฉุกคิดได้ว่า มันถูกแน่หรือ เพราะธรรมชาติของใจ ถึงแม้จะมีจุดบอดกันทุกคน แต่ใจนั้นเป็นธาตุรู้ รู้ผิดชอบชั่วดี รู้ผิดรู้ถูก แต่โดยมากเราไม่ฟัง เมื่อมันเตือนขึ้นมา เราสะดุ้ง ตะขิดตะขวงใจ แต่ประเดี๋ยวเดียวก็จะหาเหตุผลที่เป็นพาลปัญญามาเข้าข้างกิเลส แล้วบอกว่า ฉันถูก
...
อ้างอิง: http://www.dharma-gateway.com/ubasika/amara/ubasika-ammara-33.htm

อ่านธรรมะเพิ่มเติมได้ที่ 
 อ่านธรรมะเพิ่มเติม


วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คิดแตกต่าง



เกริ่นนำ
คนหนึ่งต่อสู้เพื่อความดี ลบล้างความชั่ว
คนหนึ่งต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ลบล้างความอยุติธรรม
ศีลธรรมสมัยใหม่ผูกพันกับเศรษฐกิจ Moral Economy
ศีลธรรมสมัยเก่าสั่งสมสั่งสอนมาแบบดั้งเดิม Moral ...
การสู้กันของ สิบชุดความคิด
สามชุดเดิม ชนบทสู้กับเมือง ไพร่กับอำมาตย์ ทุนเก่าทุนใหม่
เจ็ดสิ่งที่ซ่อนอยู่ ชนชั้นกลางกับชนชั้นล่าง เสรีนิยมกับจารีตนิยม โลกาภิวัตน์กับอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยมกับประชาธิปไตย ทุนนิยมกับการต่อต้านทุนนิยม รัฐกับการต่อต้านรัฐ นักการเมืองกับนักคุณธรรม
ในนามของความเชื่อ ฉันจึงมิสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะทำร้ายเธอ กำจัดเธอ ด้วยความเชื่อของฉั

การเข้าใจคนที่คิดแตกต่าง

การเกิดขึ้นของชุดความคิดที่แตกต่าง
เรามีความคิด ชุดของความคิด ที่เป็นตัวกำหนดการกระทำของเรา ชุดความคิดของเรามาจากไหน เมื่อแรกเกิดเราบริสุทธิ์จากความคิดทั้งมวล หรือแท้จริงแล้วเรามีสิ่งที่พกพามาด้วย
ปฏิสนธิวิญญาณจุติพร้อมกับกรรมของเรา จึงเป็นที่กำเหนิดของเรา สถานที่ เวลา ครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้อง วงศาคณาญาติ เป็นเบื้องต้น 
ในท่ามกลางเราได้เรียนรู้ จาก ครอบครัว ศาสนา โรงเรียน การทำงาน สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมชุดความคิดของเรามา หล่อหลอม บ่มเพาะ เราเข้าไปจับต้อง เชื่อมั่นแล้วจึงยึดถือ เราเสพสิ่งต่างๆนี้ เป็นธรรมดา เราเพลิดเพลิน พร่ำถึง
และดื่มด่ำ เป็นเนื้อเดียวกัน จนไม่สงสัย ไม่ฉุกใจคิด ความเชื่อที่ฝังตัวไปทีละเล็กละน้อย สร้างชุดความคิดของเราขึ้นมา
ชุดความคิดของคนอื่นก็เช่นกัน
เพียงแต่ความแตกต่างเกิดขึ้นจาก ความแตกต่างตั้งแต่ปฏิสนธิวิญญาณ กรรม สถานที่ เวลา ครอบครัว ในเบื้องต้น ในท่ามกลางก็เช่นเดียวกัน จึงเป็นชุดความคิดที่ยึดถือแตกต่างกัน
ด้วยชุดความคิดของเรา เราจึงไม่เข้าใจเขา ทำนองเดียวกัน เขาก็ไม่เข้าใจเราเช่นกัน

การปะทะกันของชุดความคิดที่แตกต่าง
ชุดความคิดที่แตกต่างนี้ต่างอยู่ในที่ในทางของตนเอง การประทะกันมีทุกสังคม ในสังคมที่แตกต่างมีกระบวนการจัดการกับความแตกต่างนี้ไม่เหมือนกัน
บางสังคมยอมรับและให้พื้นที่กับความแตกต่างได้ปะทะสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วยการเคารพยอมรับความแตกต่าง ให้ที่หยัดยืนทั้งสองด้านด้วยความประสงค์สร้างสรรค์ 
บางสังคมยอมให้มีความคิดแตกต่างไม่ได้ จึงแก่งแย่งและเอาชนะกัน มอบพื้นที่ให้กับการปะทะสังหาร แข่งขัน ครอบครอง 
สิ่งที่น่าสังเกต คือ ชุดความคิดที่แตกต่างนั้นปกติอยู่กันอย่างสงบในที่ในทางของตน การปะทะสร้างสรรค์เกิดจากการเผยตัวและยอมรับกันและกันเพื่อการเรียนรู้ ส่วนการปะทะสังหารกันเกิดจากการปลุกเร้า เร่งรุก และสร้างวาทะกรรม วาทะกรรมที่สัตว์อื่นในโลกไม่มี มีเพียงในคนเท่านั้น 

ชุดความคิด วาทะกรรม และเจตนา
มนุษย์นั้นสร้างวาทะกรรมมานานมาก เรามีงานเกี่ยวกับวาทะกรรมเยอะมาก วาทะกรรมสร้างชุดความคิด และชุดความคิดก็สร้างวาทะกรรม เช่นเดียวกัน การสร้างทั้งชุดความคิดและวาทะกรรมล้วนมีเจตนาอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น เจตนานั้นเพื่อครอบงำ ครอบงำเพื่อให้สร้างสรรค์หรือสังหารตามเจตนา 
ชุดความคิดที่แตกต่างจึงปะทะกันตามเจตนา อาศัยความรักและเมตตา ทำให้ต้องสร้างวาทะกรรมสรรเสริญชมเชย ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมรับในความแตกต่างอย่างไม่มีเงื่อนไขนำไปสู่การเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันเยี่ยงมนุษย์ที่เท่าเทียมเสมอกัน
ชุดความคิดที่แตกต่างจึงปะทะกันตามเจตนา อาศัยความกลัว ทำให้ต้องป้องกันป้องกันโดยสร้างวาทะกรรมดูหมิ่นดูแคลน ทำให้เกิดการรังเกียจเหยีดหยาม เมื่อรังเกียจเหยีดหยามแล้วจึงตัดสินในความแตกต่าง นำไปสู่ความต้องการขจัดทิ้งเยี่ยงผู้มีอำนาจเหนือกว่า
เพื่อการดั่งนั้นวาทะกรรมแห่งรักใคร่จึงดำรงอยู่ สัมผัสได้ และยังประโยชน์เสมอมา
เพื่อการดั่งนั้นวาทะกรรมแห่งความเกลียดชัง จึงเผยตัวของมัน นำไปสู่ วาทะแห่งอาชญากรรม ขจัดทิ้งผู้แตกต่างเสมอมา

เจตนาที่จะเข้าใจความแตกต่าง ต้องเข้าใจการอยู่รอดของแต่ละชุดความคิดเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ซึ่งมีจุดหมายที่จะอยู่อย่างมีความหมายเท่าที่ชีวิตอันน้อยนิดและสั้นนักนี้จะทำได้
จะเข้าใจความแตกต่างจากโลกย์ที่เรายึดถือนั้นเป็นไปไม่ได้ เราต้องเข้าไปในโลกย์ที่เขาเป็นอยู่ จะเข้าไปในโลกย์ที่เขาเป็นอยู่ได้ด้วยการละทิ้งมโนธรรม ชุดความคิดที่เรายึดถือ อย่างไม่มีเงื่อนไข สัมผัสความแตกต่างอย่างนอบน้อม สำนึกว่า เราต่างเป็นผู้มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายเป์นธรรมดา จะล่วงพ้นสักสิ่้งไปไม่ได้เสมอกัน ...

การเข้าใจความแตกต่างของชุดความคิด
ไปหาเขา อยู่ร่วมกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขามี

ขอสันติสุขจงมีในสรรพธาตุรู้
ด้วยจิตนอบน้อม